ซัพพอร์ตใจคนใกล้ตัวที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติ Adjustment Disorder


นันทิยา พูนล้น
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


ภาวะการปรับตัวผิดปกติ หรือ Adjustment Disorder มักเกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับความเครียด ความกดดัน จนเกิดความไม่สมดุลของร่างกายและจิตใจ และไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต มีความทุกข์ ทรมาน จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน


ภาวะการปรับตัวผิดปกติ

การซัพพอร์ตใจ ช่วยให้ผู้มีภาวะการปรับตัวผิดปกติสามารถปรับตัวสู่จุดสมดุล รู้สึกถึงการมีสัมพันธภาพที่ดี ได้รับความเข้าใจ เห็นใจ และกำลังใจจากคนใกล้ตัว เกิดการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง สามารถเผชิญความกดดันและก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ ที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยได้ โดยสิ่งที่ควรรู้ก่อนช่วยซัพพอร์ตใจมีดังนี้



1. สร้างความรู้สึกปลอดภัย
2. ยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีในฐานะบุคคล
3. ยอมรับในสิ่งที่เขาทำโดยไม่ตัดสิน และให้อภัยในสิ่งที่ผิดพลาด
4. เป็นแหล่งพักพิงและยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อประสบปัญหา
5. ส่งเสริมให้มีความภาคภูมิใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
6. ช่วยเหลือเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุปสรรคขัดขวางความสุขในชีวิต


ภาวะการปรับตัวผิดปกติ

เริ่มต้นซัพพอร์ตใจอย่างไรดี
1. เป็นผู้ฟังที่ดี
รับฟังอย่างตั้งใจโดยไม่โต้แย้ง ใส่ใจทั้งภาษาที่สื่อออกมาทางวาจาและภาษากายหรือพฤติกรรม เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออก ระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้น ช่วยให้เขาไว้วางใจในการเล่าปัญหา และยังช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของเขาด้วย
2. ฉลาดถาม
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยใช้คำถามปลายเปิด เช่น พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น หรือรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นต้น ควรถามในจังหวะที่เหมาะสม อาจกระตุ้นด้วยคำพูดสั้นๆ เช่น ครับ ค่ะ อย่างไรต่อครับ ไม่ควรพูดขัดจังหวะหรือเบี่ยงประเด็นขณะเขากำลังเล่าเรื่องราว เพื่อให้ความคิดของเขาต่อเนื่อง แสดงถึงความต้องการ ความคับข้องใจ และการจัดการกับปัญหาของเขา
3. พูดสะท้อนความรู้สึก
ช่วยให้เขาทบทวนความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองและรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ เช่น คุณดูเศร้าๆนะ คุณดูเสียใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นต้น
4. สรุปใจความสำคัญ
เพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองเรื่องราวของเขาจากมุมมองที่ผู้ฟังได้พูดสรุปอีกครั้ง อาจพบว่าปัญหาไม่ได้แย่หรือร้ายแรงอย่างที่คิด และพบแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเองได้
5. เสนอความช่วยเหลือ
ร่วมวางแผนและค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้จริง ให้การสนับสนุนด้านจิตใจ โดยให้เวลา ให้กำลังใจ และสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลที่จำเป็นหรือแหล่งให้การช่วยเหลือ

หากความเครียดที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รู้สึกทุกข์ หรือหยุดคิดไม่ได้ สามารถพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด ซึ่งช่วยให้ได้รับการดูแล บำบัด และรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง




อ้างอิงข้อมูลจาก


• ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) โดย ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์
• จิตบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive Psychotherapy) โดย ศ.นพ.ทินกร วงศ์ปการันย์
• วิธีพูดให้กำลังใจ โดย พญ.ชญานิน ฟุ้งสถาพร
• หนังสือการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ โครงการตำรา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม