วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล


นะลิน แสงสุวรรณ
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


เคยไหมที่เรารู้สึก คิดมาก วิตกกังวล ไม่สบายใจ แล้วยิ่งพยายามหาสาเหตุของความวิตกกังวลเหล่านั้นแต่กลับกลายเป็นว่า เราหมกหมุ่นอยู่ในวังวนความวิตกกังวล ความไม่สบายใจ หาสาเหตุไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ อาการเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า


Free-Floating Anxiety คือ อาการวิตกกังวลที่ไม่ได้ทราบสาเหตุ ไม่เจาะจงหรือผูกพันกับเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ อาการนี้มักเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) ซึ่งเป็นการวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง กังวลมากเกินความจำเป็นจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งแม้ไม่มีอะไรให้กังวลก็ตามแต่คนที่มีอาการแบบนี้มักคาดเดาหรือจินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เงิน ครอบครัว สุขภาพ หรือความสัมพันธ์ก็ตาม


Anxiety

อาการ / สัญญาณเตือน
ผู้ที่มีอาการ Free-Floating Anxiety อาจมีอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้ เช่น วิตกกังวล ไม่สบายใจ กลัว กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนก สงสัย คับข้องใจ หรือมีความเครียด เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าอาการหรือพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์ความรู้สึกเหล่านี้อาจมาๆ หายๆ และไม่มีที่มาชัดเจนได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากว่ามีอาการหรือความรู้สึกเหล่านี้มากขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ จนกระทบกับการดำรงชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน อาจกลายเป็นความวิตกกังวลที่มักเกี่ยวข้องกับโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD) ได้ เช่น กระสับกระส่าย หวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย อ่อนเพลียง่าย ใจลอย หงุดหงิดง่าย ปวดตึงกล้ามเนื้อ รวมถึงนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ

Anxiety

สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงของ Free-Floating Anxiety ที่เกิดขึ้นในโรควิตกกังวลทั่วไป ยังไม่ทราบชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น
• สารเคมีในสมองไม่สมดุล ระบบสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า Serotonin และสมองส่วนที่เรียกว่า Amygdala เมื่อเกิดความไม่สมดุลก็มีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้มากกว่าปกติ
• พันธุกรรม ผู้ที่มีความวิตกกังวลมากกว่าปกติหรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล โดยทั่วไปมีแนวโน้มที่จะมีสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดเป็นโรควิตกกังวลด้วย
• ประสบการณ์เชิงลบ หรือกระทบกระเทือนจิตใจมีบทบาทให้เกิดความรู้สึกเครียด หวาดกลัว รู้สึกวิตกกังวลจนนำไปสู่ความวิตกกังวลมากกว่าปกติได้เช่นกัน
• การเลี้ยงดู เด็กที่ถูกเลี้ยงดูร่วมกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่มีพฤติกรรมตอบสนองกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความวิตกกังวล มีส่วนทำให้เด็กเลียนแบบและจำลองพฤติกรรมตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความวิตกกังวล และอาจมีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวลในระดับสูงขึ้นในภายหลัง

Anxiety

รับมืออย่างไร
1. การทำให้ตนเองผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หายใจเข้า-ออกลึกๆ หรือนวดเพื่อผ่อนคลายแบบอโรม่าโดยเลือกกลิ่นที่ชอบ หากทำเป็นประจำจะช่วยลดความเครียดและความกังวลได้มากขึ้น
2. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
• สุรา บุหรี่ แม้การดื่มสุราและสูบบุหรี่ช่วยลดความกังวลได้ แต่ไม่นานเท่าไหร่ก็กลับมากังวลเหมือนเดิม อีกทั้งเมื่อใช้ในระยะยาวยิ่งเสพติดแอลกอฮอล์และนิโคตินได้ง่าย เพิ่มความกังวลด้านสุขภาพเข้ามาอีกด้วย
• ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมีส่วนกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว แต่หากร่างกายได้รับมากไปหรือกำลังตกอยู่ในภาวะที่เป็นกังวลอยู่อาจกระตุ้นให้สมองเกิดความกังวลมากยิ่งขึ้น
3. จัดการความคิด ควรคิดในแง่บวกและคิดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่านั้น แต่หากความกังวลเกิดขึ้นแล้ว ควรไตร่ตรองทุกครั้งว่าสิ่งที่กำลังคิดกังวลอยู่เกิดประโยชน์หรือเกิดโทษกับตัวเอง เมื่อจัดการความคิดความกังวลได้ก็จะไม่เป็นทาสของความคิดช่วยลดความกังวลได้มาก


หากลองสังเกตตัวเองดีๆ แล้ว อาการกังวลยังคงอยู่หรือมีมากขึ้นตามอาการและสัญญาณเตือนที่กล่าวในข้างต้นจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันก็อาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด จะช่วยทำให้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ง่ายและรักษาได้รับการรวดเร็ว


อ้างอิงข้อมูลจาก

• รู้จัก Free Floating Anxiety ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นอย่างไร้สาเหตุ จาก UNLOCKMEN https://www.unlockmen.com/man-up-grower-101
• What Is Free-Floating Anxiety? โดย Steven Gans, MD. จาก Verywell Mind https://www.verywellmind.com/free-floating-anxiety-definition-symptoms-traits-causes-treatment-5116623





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม