Empty Nest Syndrome ความเหงาของพ่อแม่เมื่อลูกโตขึ้นและออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตนเอง


ศุภัชญา ชูทอง
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


หากพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ในชีวิต คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของลูก พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ในแต่ละช่วงวัยก็มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป หากเราไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก็อาจมีผลกระทบหลายด้าน ทั้งจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


ครั้งนี้ขอพูดถึงบทบาทของผู้เป็นพ่อแม่ ซึ่งเป็นบทบาทที่ใช้เวลาเนิ่นนานในการเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโต และด้วยระยะเวลาที่ยาวนานนั้นอาจทำให้เกิดความเคยชินกับพ่อแม่ แต่เมื่อลูกพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นออกไปอยู่หอพักเพื่อเรียนหนังสือ ย้ายออกไปอยู่เองเพื่อทำงานหรือกระทั่งสร้างครอบครัวใหม่ พ่อแม่อาจไม่เคยคิดว่าตนเองจะรู้สึกเศร้า เหงา เมื่อลูกแยกครอบครัวออกไป คิดเพียงแค่ได้มีเวลาเป็นของตนเองมากขึ้น ซึ่งหากเกิดความรู้สึกโหยหาช่วงเวลาที่เคยมีลูกอยู่ด้วยแล้วนั้น ความรู้สึกนี้ถูกเรียกว่า “Empty Nest Syndrome”


Empty Nest Syndrome หรือ ภาวะรังที่ว่างเปล่า คือ อาการที่พ่อแม่รู้สึกเหงา ว่างเปล่า โดดเดี่ยว วิตกกังวล เศร้า เสียใจ หรือสูญเสีย จากสาเหตุเมื่อลูกโตขึ้นและออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตนเอง ในช่วงแรกผู้ปกครองอาจรู้สึกเศร้าเพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว อาจใช้เวลา 2-3 เดือน จึงสามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับการไม่มีลูกอยู่ในบ้านได้ ซึ่งแต่ละครอบครัวอาจใช้เวลาแตกต่างกันไป อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ แต่หากไม่สามารถข้ามผ่านความเครียด ความวิตกกังวลนี้ไป ก็อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

Empty Nest Syndrome

4 วิธีรับมือกับภาวะ Empty Nest Syndrome
1. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง การยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างเปิดใจ ขอเพียงพ่อแม่รู้เท่าทันอารมณ์ว่าความเศร้าเกิดจากความไม่คุ้นเคยที่ไม่มีลูกอยู่ด้วย ไม่ใช่ไม่อยากให้ลูกออกไปมีชีวิตของตนเอง แน่นอนว่าอาจต้องใช้เวลาสำหรับพ่อแม่ที่ดูแลลูกมานาน 10-20 ปี แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไป เวลาจะช่วยเยียวยาความเหงาและเศร้าของพ่อแม่ได้
2. คิดบวก แน่นอนว่าการสูญเสียบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่นั้นนำซึ่งความโศกเศร้า แต่กลับกันให้พ่อแม่ลองคิดบวก การเก็บความทรงจำ เรื่องราว และสิ่งดีๆ ของลูกไว้ให้ยิ้มได้เมื่อนึกถึงก็อาจทำให้คลายความเศร้าไปได้ เช่น รูปภาพวัยเด็กของลูก เรื่องเล่าประทับใจที่เคยผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเวลาว่างที่เพิ่มขึ้นของพ่อแม่ที่สามารถกลับมาดูแลตนเอง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่ออยู่เป็นกำลังใจให้ลูกต่อไป
3. เป้าหมายใหม่ในชีวิตพ่อแม่อาจเริ่มต้นงานอดิเรกที่ตนเคยชอบ บางสิ่งบางอย่างที่เคยอยากทำแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ลงมือทำเพื่อเติมเต็มชีวิตให้มีชีวาและเพิ่มคุณค่าให้ตนเองอีกครั้ง
4. เล่าสู่กันฟัง ความเศร้าทำให้ผู้ปกครองบางท่านเก็บตัว เก็บความรู้สึกไว้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเศร้า เหงา ว้าเหว่ ด้วยความไม่คุ้นเคยยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไป แต่หากเราได้พูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูกด้วยความคิดถึงและห่วงใยก็ช่วยลดช่องว่างความห่างไกลได้


Empty Nest Syndrome

อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ยังไม่พร้อมพูดคุยกับลูกถึงความรู้สึกที่มี ก็สามารถพูดกับคนที่ไว้ใจ คนที่ยอมรับฟังและไม่ตัดสินเราทันทีได้ อย่างเช่น แพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกที่ดีที่พ่อแม่จะได้ระบายความรู้สึกที่เก็บไว้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในอนาคต


ท้ายนี้ การเว้นพื้นที่ส่วนตัวระหว่างกันและกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ช่วยรักษาให้สัมพันธภาพในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกให้ดีขึ้นได้ การดูแลห่วงใยกันห่างๆ เว้นพื้นที่ให้ความคิดถึงได้ทำงานก็อาจส่งผลดีต่อจิตใจของทุกฝ่าย ส่วนลูกๆ ก็สามารถช่วยพ่อแม่ได้ด้วยการโทรศัพท์หาท่านแค่เพียงวันละครั้งก็ช่วยคลายความคิดถึงไปได้






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม