แพทย์หญิงวนัทดา ถมค้าพาณิชย์
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
การแต่งงานเป็นสิ่งที่น่ายินดี สำหรับเจ้าบ่าว เจ้าสาว รวมถึงครอบครัวและคนใกล้ชิด หลายครั้งที่คนเข้าใจว่าความรักอย่างเดียวหรือการที่คนสองคนรู้จักกันมานาน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานนั้น แปลว่าเราพร้อมแล้วที่จะแต่งงาน แต่ในความเป็นจริง คือ หากเราไม่ได้ทำความเข้าใจกันก่อนแต่งงาน หลายๆ ครั้งก็พบว่า หลังแต่งงานแทนที่จะมีความสุข แต่กลับมีความทุกข์เข้ามาแทน เหมือนที่เราเคยได้ยินว่า “พอหลังแต่งงาน เขาก็เปลี่ยนไป” จริงๆ มันเป็นอย่างนั้น หรือว่าเป็นเพราะเราอาจยังไม่ได้รู้จักตัวตนของคู่เรา หรือเราคาดหวังบางอย่างจากคู่เรามากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นก่อนการแต่งงาน ควรทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ชัดเจนก่อน
สิ่งแรกที่เราควรทำความเข้าใจร่วมกันก่อนแต่งงาน คือ “เป้าหมายในการใช้ชีวิตคู่” รวมถึงภาพของชีวิตคู่ที่เราต้องการใช้ไปด้วยกัน เช่น บางคนอาจอยากแยกครอบครัวจากครอบครัวใหญ่ อยากมีลูกกี่คน ภรรยาอยากทำงาน ฯลฯ หากภาพที่เห็นยังไม่ชัดเจน การคุยกันจนความคิดตกผลึกก็เป็นสิ่งสำคัญ
ภาพในการใช้ชีวิตคู่นั้น ยังรวมถึงสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับบางคนซึ่งอาจไม่สามารถทำได้เลย แม้กระทั่งบางอย่างที่เราคิดว่า “น่าจะรู้อยู่แล้ว ไม่เห็นต้องพูด” เช่น “การมีผู้หญิงอื่น ไม่ OK นะ” ก็ควรต้องคุยกันให้เข้าใจก่อน เพราะวัฒนธรรมหรือการเติบโตมาของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ทำให้มีความคาดหวังที่ไม่ตรงกันในชีวิตแต่งงาน
การที่เราตัดสินใจแต่งงาน ไม่ใช่เน้นเพียงแต่งานแต่งงานหรือทะเบียนสมรสเท่านั้น แต่หมายถึง การที่เราตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันกับอีกคน การที่เราได้บางสิ่งบางอย่างเพิ่มขึ้นมาในชีวิต เช่น ความมั่นคง การเป็นครอบครัว ในขณะเดียวกัน เราอาจต้องเสียสละบางอย่างเพื่ออีกคนเช่นกัน เช่น เวลา ความชอบของเรา แต่ถ้าหากเข้าใจว่าเรายังสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนเดิม ก็อาจทำให้ชีวิตสมรสมีปัญหาได้ภายหลัง
การปรับตัวเข้าหากันนั้น ความเห็นอกเห็นใจหรือการฝึกมองในมุมของอีกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก จำเป็นต้องเปิดใจรับฟังอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นการทำความรู้จักและเรียนรู้อีกฝ่ายไปพร้อมๆ กัน หากเราพยายามปรับตัวเข้าหากัน มองแค่ว่าเหตุผลของใครดีกว่ากัน โดยที่ไม่มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจอีกฝ่าย ก็เหมือนเป็นการโต้วาทีมากกว่า ไม่ใช่ลักษณะของคนรักกันที่อยู่ร่วมกันได้
การเปิดใจเข้าหาอีกฝ่าย ยังรวมถึงความพยายามเข้าใจความแตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ครอบครัว หรือตัวตนของอีกฝ่ายที่ไม่เหมือนกัน เรียนรู้เพื่อยอมรับอีกฝ่าย และการปรับตัวเข้าหาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องทำทั้งสองฝ่าย หากทำอยู่ฝ่ายเดียวอาจทำให้ชีวิตคู่ขาดสมดุลและเกิดปัญหาขึ้นในที่สุดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การปรับตัวเข้าหากัน ควรทำด้วยความเต็มใจ เราสามารถบอกสิ่งที่เราต้องการให้อีกฝ่ายฟังได้ แต่อีกคนทำให้เราได้แค่ไหนนั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง สิ่งที่สำคัญ คือ การมองเห็นส่วนที่อีกฝ่ายพยายามทำให้เรามากกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ เช่น เขาาอาจไม่ใช่คนพูดจาหวานๆ แต่รู้ว่าเราชอบ นานๆ ก็พูดสักที การที่เรารู้สึกขอบคุณกับสิ่งที่เขาทำ ช่วยให้ความรักยืนยาวขึ้นและเป็นแรงกระตุ้นทำให้เขาอยากทำอีก ในทางกลับกัน หากเรามัวแต่คิดถึงแต่ในช่วงเวลาที่เขาไม่ได้พูดจาหวานๆ กับเรา เราก็มีแต่ความทุกข์ ในขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกว่าทำหรือไม่ทำก็มีค่าเท่ากันและเลิกทำในที่สุด
การที่เราแต่งงานกับใครสักคนนั้น ไม่ว่าเขาเป็นใคร ก็มักมีสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับเขาเสมอ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเจอใครที่เราชอบเขาทุกอย่าง ดังนั้นการพยายามทำความรู้จัก ยอมรับ และปรับตัวให้เข้ากับอีกฝ่ายนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับชีวิตคู่ หลายครั้งที่คู่แต่งงานใหม่ไม่ได้เตรียมใจเตรียมตัวให้พร้อมก่อนแต่งงาน ทำให้มีปัญหาต้องมาพบจิตแพทย์ โดยเฉพาะคนที่เข้าใจว่า “เดี๋ยวแต่งงานก็ดีเอง” “เดี๋ยวมีลูกก็ดีเอง” ก็มักต้องพบกับการผิดหวังเสมอ เพราะเป็นการคาดหวังอย่างเลื่อนลอยโดยปราศจากการยอมรับและการปรับตัวเข้าหากัน
ปัญหาที่พบบ่อยๆ สำหรับคู่แต่งงานใหม่ที่มาพบจิตแพทย์ มักเป็นปัญหาอย่างที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะการที่แต่ละคนมี “ตัวตน” ของตนเองมากจนเกินไป ทำให้กระบวนการปรับตัวเป็นไปได้ยาก
การอยู่ร่วมกันหลังแต่งงานได้อย่างดีนั้น ต้องมองเห็นค่าของความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง และพร้อมปรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องคิดเสมอว่า การที่เรามองแตกต่างนั้น ไม่ได้แปลว่าใครเป็นคนถูดหรือคนผิด เพียงแต่มองกันคนละด้านกัน และความขัดแย้งไม่ได้หมายถึงปัญหาเสมอไป การที่เราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ และพร้อมที่จะพัฒนาความเป็น “เรา” ไปด้วยกัน ช่วยทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืนขึ้น