การฆ่าตัวตาย ความสูญเสียที่ป้องกันได้


นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัติพิชัย
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

“หากคนใกล้ตัวของคุณกำลังคิดฆ่าตัวตาย คุณจะรับมืออย่างไร?”


ชีวิตคนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในสังคมมนุษย์เรา การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย นับว่าเป็นเรื่อง น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ ร้อยละ 90 ของผู้ที่ลงมือกระทำการฆ่าตัวตายเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ เพียงแต่ผู้ป่วยเองหรือผู้ใกล้ชิด ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น



องค์การอนามัยโลก พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง มีผลกระทบต่อคนใกล้เคียงอย่างน้อย 6 คน หากเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือโรงงานจะมีผลกระทบต่อคนได้เป็นจำนวนร้อย



ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากความถี่ของปัญหามีมากขึ้นกว่าในอดีต รวมทั้งระดับความเครียด ความกดดันที่สูงขึ้นของผู้คนในสังคม ในขณะที่ความแข็งแรงของสุขภาพจิตที่ลดลง หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ที่คนรู้จักหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมาแล้ว รวมทั้งมีประสบการณ์จากการสูญเสียซึ่งมีผลต่ออารมณ์ จิตใจและครอบครัวของตัวเอง ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ความรู้เกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการผิดปกติ และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและถ้าถูกนำไปปฏิบัติ จะช่วยลดความสูญเสียของผู้คนในสังคมได้


Suicide_prevention

คนที่มีลักษณะเสี่ยงต่อปัญหาดังกล่าว ได้แก่ คนที่มีความสามารถในการปรับตัว และแก้ปัญหาในชีวิตได้ไม่ดี คนที่เพิ่งประสบกับความผิดหวัง ล้มเหลวหรือสูญเสียในชีวิตที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก คนในครอบครัว การล้มเหลวด้านการงาน การเงิน การเรียน ทำให้เกิดอาการท้อแท้ คนที่ต้องประสบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางกาย เช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง



คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ารุนแรง มักมีการแสดงออกในผู้ที่อยู่ใกล้ชิด สังเกตเห็นเป็นสัญญาณได้หลายอย่าง เช่น คิดว่าตัวเองไร้ค่า มีแต่ความล้มเหลว ทำอะไรไม่สำเร็จ รู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คิดถึงคนที่ตายไปแล้ว สนใจข่าวการตาย ขาดความสนใจในตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ดูแลตัวเอง ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ชอบเก็บตัวตามลำพัง แยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่รู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้าจัด ขับรถเร็ว พูดบ่น หรือเขียนข้อความเกี่ยวกับความคิดอยากตาย จัดการกับภาระสุดท้ายต่างๆ เช่น ทำพินัยกรรมยกสมบัติส่วนตัวให้ผู้อื่น เป็นต้น


Suicide_prevention

เมื่อพบว่าคนใกล้ชิดมีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้ว ต้องรีบให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน ซึ่งทำได้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คนที่คิดฆ่าตัวตายมักมองโลกในแง่ลบ คิดว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ เราจึงควรเป็นฝ่ายเข้าหาเขามากกว่ารอให้เขาร้องขอ



คนที่คิดฆ่าตัวตายต้องการความเห็นอกเห็นใจ และต้องการผู้เข้าใจปัญหา เข้าใจความรู้สึกของเขา ท่าทีในการสนทนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรฟังด้วยท่าทีที่พร้อมรับฟังในสิ่งที่เขาเล่า ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไม่มีท่าทีตำหนิ หรือด่วนสรุปตัดสินว่าเขาไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ท่าทีที่สนใจสามารถช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นว่ามีคนแคร์ ถ้าประเมินแล้วว่ามีความคิดอยากตายค่อนข้างรุนแรง ต้องอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ควรให้มีคนอยู่ด้วยตลอด เก็บของมีคม ยาหรือสารเคมีที่อาจใช้ทำร้ายตัวเองได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ อาจต้องนำส่งที่โรงพยาบาลเพื่อรับการช่วยเหลือที่ถูกต้องปลอดภัยต่อไป โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชได้ เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสถานที่ บุคลากร และวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ข้อควรจำคือ “ทำมากเกินไป ดีกว่าทำน้อยเกินไป” การได้ช่วยเหลือคนให้พ้นจากวิกฤติการฆ่าตัวตายได้ถือเป็นบุญกุศลใหญ่ เพราะเท่ากับช่วยคนใกล้ชิดอีกหลายชีวิตให้พ้นจากความทุกข์ใจจากการสูญเสีย


Suicide_prevention




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม