สันติ จันทวรรณ
นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์
เคยไหมที่มัวแต่คุยโทรศัพท์จนลืมว่าต้มน้ำไว้ หรือขับรถอยู่แล้วคิดอะไรเพลินๆ จนขับรถเลยแยกที่ต้องเลี้ยว ปัญหาพวกนี้เกิดจากการขาดความใส่ใจ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น มีสิ่งรบกวนความคิด สิ่งแวดล้อมมีสิ่งเร้าค่อนข้างมาก ร่างกายเหนื่อยล้า หรือภาวะอาการเจ็บป่วยทางโรค ได้แก่ โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก การบาดเจ็บทางสมอง หรือโรคทางสมองต่างๆ ซึ่งมีผลกับความสามารถใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จนทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ความใส่ใจ คือ การจดจ่อ รับรู้ ติดตาม สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการกระทำในขณะนั้น และสามารถคงความ ใส่ใจหรือเปลี่ยนความใส่ใจได้ตามความเหมาะสมและมีคุณภาพ
ความใส่ใจมี 3 ชนิด คือ
1. การเลือกความใส่ใจ
2. การคงความใส่ใจ
3. การเปลี่ยนความใส่ใจตามความเหมาะสม
การเลือกความใส่ใจ
คือ ความสามารถในการใส่ใจกับสิ่งที่เราเลือกใส่ใจหรือสิ่งที่สำคัญ หากมีสิ่งเร้าอื่นมารบกวน สามารถรู้และเลือกใส่ใจหรือไม่ใส่ใจได้ เช่น ขณะที่อยู่ห้องเรียนคุณครูกำลังสอนอยู่หน้าห้อง และในห้องมีเพื่อนนักเรียนคุยกัน แต่เราเลือกที่จะฟังคุณครูสอนหน้าห้อง และเลือกไม่ฟังเพื่อนที่คุยกันในห้อง
การคงความใส่ใจ
การคงความใส่ใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะนั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น เรากำลังนั่งทำงานอยู่มีเพื่อนเดินมาด้านหลังจนเพื่อนเข้ามาประชิดตัวแล้วเรียกเราจึงรู้ว่าเพื่อนมา นั้นแสดงว่าตอนนั้นเรากำลังคงความใส่ใจกับการทำงานอยู่ โดยผู้ที่มีสมองกระทบกระเทือนมักมีปัญหาในการคงความใส่ใจ ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมใดได้นาน
การเปลี่ยนความใส่ใจตามความเหมาะสม
มี 2 ลักษณะ คือ
- การแบ่งความใส่ใจ ความสามารถในการใส่ใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า 2 อย่างพร้อมกัน เช่น ในขณะที่คุณขับรถคุณเปิดเพลงฟังและร้องตามไปด้วย
- การเปลี่ยนความใส่ใจ ความสารถสามารถเปลี่ยนความใส่ใจจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ในขณะที่คุณกำลังนั่งพิมพ์งานทางคอมพิวเตอร์อยู่ แล้วมีโทรศัพท์โทรเข้ามาคุณรับและ พูดคุยด้วยจนจบ แล้วคุณก็สามารถกลับมาพิมพ์งานต่อจากที่พิมพ์ค้างไว้ได้
ปัญหาจากการขาดความใส่ใจ
มีผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตามการขาดความใส่ใจสามารถฝึกและฟื้นฟูได้ซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคและเวลาในการฝึกและฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น