เกวรินทร์ ไชโยธา
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
การเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือที่เรียกว่า Caregiver นั้น ต้องมีความรับผิดชอบ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคและการปฏิบัติตัว เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ดูแลส่วนหนึ่งอาจปรับตัวได้แล้วกับการดูแลผู้ป่วยแต่อาจมีบางส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ส่งผลให้ผู้ดูแลเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจทำให้มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยด้วย
อาจกล่าวได้ว่าการที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ตัวผู้ดูแลต้องดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีตามแนะนำ ดังนี้
1. จงอยู่ในโลกของความเป็นจริง (Reality testing)
ขั้นที่ 1 การยอมรับบทบาทของการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยก่อน ยอมรับก่อนว่ามันอาจเป็น
บความจริงจะทำให้คุณคิดวางแผนและหาตัวช่วยได้
ขั้นที่ 2 การทำความเข้าใจกับขอบเขตงานการเป็นผู้ดูแลในระยะยาว
ขั้นที่ 3 จงต่อสู้กับเจตคติที่เป็นลบและความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
เช่น การมองว่าผู้ป่วยแกล้งป่วย ไม่อดทน ไม่พยายาม เป็นต้น
2. พักเอาแรง (Refresh)
จัดตาราง “เวลานอก” สำหรับตัวคุณเอง เพื่อให้คุณได้ทำสิ่งที่คุณรัก ได้พักผ่อน เพื่อเติมพลังให้คุณกลับมาดูแลผู้ป่วยใหม่อีกครั้ง
3. เติมพลัง (Rejuvenate)
เมื่อคนดูแลดูแลผู้ป่วยมากเกินไป จนไม่มีเวลาดูแลตนเอง สุดท้ายคนดูแลอาจกลายเป็นผู้ป่วยเอง การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะช่วยต้านความกังวล ลดภาวะซึมเศร้า บรรเทาความรู้สึกโกรธ เสริมภูมิคุ้มกันโรค และลดความเสี่ยงของโรค เช่น มะเร็ง และโรคหัวใจ ช่วยรักษาน้ำหนักไม่ให้อ้วน ดังนั้น การจัดสรรเวลาเพื่อออกกำลังกายจะเป็นการเติมพลังให้คุณมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวคุณเองและผู้ป่วย
4. เติมอาหารที่ดี (Replenish)
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงตามมาด้วย
5. เสาะหาความช่วยเหลือ (Reach out)
การมองหาความช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน ทีมแพทย์และพยาบาล เพื่อขอคำแนะนำ รวมทั้งติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
6. เฝ้าระวังไม่ให้ความซึมเศร้ามาเยือน
ภัยเงียบสำหรับผู้ดูแลอันหนึ่ง คือ ภาวะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งมักเข้ามาครอบงำเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ให้หมั่นสังเกตตนเองว่ามีความเครียดมากขึ้น หรือรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ซึ่งหากมีอาการ ให้รีบพบแพทย์เพื่อให้การดูแลได้ทันท่วงที
สิทธิของผู้ดูแลคนป่วย
1. ดูแลตนเองบ้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการทำให้ตัวผู้ดูแลคนป่วยเองมีพลังที่จะดูแลผู้ที่ตนรักได้ดียิ่งขึ้น
2. เสาะหาความช่วยเหลือจากคนอื่นให้มาช่วยดูแลคนป่วย แม้ว่าบางครั้งคนป่วยที่ตนรักจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะผู้ดูแลย่อมทราบขีดจำกัดของพลังและความอดทนที่ตนเองมี และย่อมไม่ควรฝืนทำอะไรที่เกินขีดจำกัดของตนเอง
3. ยังคงใช้ชีวิตบางด้านของตนเองที่เป็นความรื่นเริงบันเทิงใจโดยไม่มีคนป่วยอยู่ด้วย เหมือนเมื่อครั้งยังไม่มีใครป่วย เพราะผู้ดูแลผู้ป่วยย่อมทราบดีว่าตนได้ทำอะไรที่ตนพึงทำได้แก่ผู้ป่วยไปแล้ว และมีสิทธิที่จะทำอะไรเพื่อตัวเองได้ตามปกติ
4. ผู้ดูแลอาจหงุดหงิดฉุนเฉียวหรือโกรธได้บ้าง เหงาบ้าง เศร้าบ้าง อารมณ์เสียบ้าง ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้
5. เพิกเฉยต่อความพยายามของคนป่วยที่จะกดดันผู้ดูแล (ที่อาจทำไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) เสียบ้าง เพราะหากใส่ใจมากเกินไป จะกลายเป็นความกดดันที่ก่อความรู้สึกผิด หรือโกรธ หรือซึมเศร้า ต่อตัวผู้ดูแลได้ เมื่อความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น ผลเสียจะตกกับตัวผู้ป่วยเอง
6. ภาคภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองได้ทำไป เพื่อช่วยเหลือคนป่วยที่ตนรัก
7. ปกป้องความเป็นตัวของตัวเองและสิทธิที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งคนป่วยที่ตนรักไม่ได้ต้องการการดูแลเต็มเวลาจากตนอีกต่อไปแล้ว ตนเองจะยังสามารถเดินหน้ากับชีวิตตนเองต่อไปได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
• สันต์ ใจยอดศิลป์.(2560).การเป็นผู้ดูแลคนป่วยเรื้อรัง สืบค้นเมื่อวันที่ 25.06.2563 http://visitdrsant.blogspot.com/2010/07/caregiver.html
• มาโนช หล่อตระกูล.(2562).การรักษาโรคซึมเศร้า สืบค้นเมื่อวันที่ 25.06.2563 https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/05282014-1001.