การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชในสังคม


อมรรัตน์ เจริญสุข
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


โรคทางจิตเวชหรือความเจ็บป่วยทางจิต เป็นภาวะสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรม หรือหลายอย่างรวมกัน โดยอาการของผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมแปลกจากคนทั่วไป เช่น มีความคิดหรือการรับรู้บิดเบือนไปจากความเป็นจริง พูดไม่รู้เรื่อง มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หรือบางครั้งอาจมีอารมณ์เศร้า เก็บตัว หงุดหงิดฉุนเฉียวหรืออารมณ์รุนแรง ขึ้นอยู่กับอาการของโรคนั้นๆ ส่งผลให้ตัวผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมาน มีปัญหาในการทำกิจวัตรหรือการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม รวมถึงการทำงานได้



การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช

การดูแลตนเอง หากป่วยด้วยโรคทางจิตเวช
1. พบแพทย์ตามนัด มาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่องและรับประทานยาให้ครบตามแผนการรักษาของแพทย์ อย่าปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดยาเอง ควรสังเกตอาการของตนเองช่วงรับประทานยา เช่น อาการดีขึ้นหรือไม่ ไม่สุขสบายหรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือไม่ รวมถึงควรศึกษาวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นหากมีผลข้างเคียงของยาเกิดขึ้น
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ งดใช้สารเสพติด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือของหมักดอง เนื่องจากอาหารดังกล่าวอาจมีผลในการลดการออกฤทธิ์ของยาและส่งผลให้อาการกำเริบได้ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที
3. พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอนหลับให้ครบ 6-8 ชั่วโมง หากงีบช่วงกลางวันไม่ควรเกิน 1-2 ชั่วโมง
4. จัดตารางการทำกิจกรรม หรือทำกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นเวลา หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สนใจทำเพื่อผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง ร้องเพลง อ่านหนังสือ
5. จัดการความเครียด หากมีความเครียดหรือมีเรื่องไม่สบายใจ ควรหาวิธีการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
6. สังเกตอาการผิดปกติ ว่ามีอาการเตือนเริ่มต้นก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ เช่น เครียด เศร้า กระวนกระวาย กระสับกระส่าย หงุดหงิด เริ่มได้ยินเสียงแว่ว เป็นต้น อาการเตือนของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันตามอาการของโรค หากเริ่มมีอาการเตือนดังกล่าวใน 1-2 สัปดาห์ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น


การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช

คนรอบข้างจะช่วยเหลือได้อย่างไร
1. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ มีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพิ่ม ลด หรือหยุดยา
2. กระตุ้นและส่งเสริมด้านการดูแลกิจวัตรประจำวันเบื้องต้น การดูแลสุขอนามัยของผู้ป่วย หรือการใช้ชีวิตในบ้าน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร ขับถ่าย การจัดเก็บที่นอน ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
3. กระตุ้นและส่งเสริมให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ทำงานตามความสามารถที่มีเพื่อฟื้นฟูความสามารถหรือศักยภาพของผู้ป่วยให้กลับมาได้มากเท่าที่จะทำได้ รวมถึงชักชวนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สนใจ เช่น ฟังเพลง ร้องเพลง ออกกำลังกาย เป็นต้น
4. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าสังคมกับคนทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ โดยเริ่มจากการพูดคุยกับคนในบ้านก่อน ไม่ควรให้ผู้ป่วยแยกตัวหรือเก็บตัวอยู่คนเดียว
5. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกและให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสม รับฟังปัญหาของผู้ป่วยอย่างตั้งใจ ไม่ตำหนิ มีการใช้การสื่อสารทางบวก พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความเป็นมิตร นุ่มนวล จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกมีคุณค่าและยังคงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
6. กรณีที่ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมผิดปกติ เช่น พูดคนเดียว ระแวง ผู้ดูแลไม่ควรแสดงความตกใจหรือกลัว ควรเบี่ยงเบนให้ผู้ป่วยสนใจสิ่งอื่น ไม่ตำหนิติเตียนผู้ป่วย โดยเฉพาะหากพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้รบกวนผู้อื่น
7. ดูแลไม่ให้ผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับสารเสพติดทุกชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด
8. สังเกตอาการเตือนที่ต้องนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว เช่น นอนไม่หลับ ไม่รับประทานอาหารหรือยา อารมณ์หงุดหงิดหรือครื้นเครงกว่าปกติ พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเองทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ


อ้างอิงข้อมูลจาก


• คู่มือการบำบัดทางสังคมจิตใจ กรมสุขภาพจิต
• คู่มือการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคจิตเภท โรงพยาบาลสวนปรุง






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม