สังเกตสัญญาณเตือนช่วยลูกถูกบูลลี่


วัลลภา วิจิตร
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


การกลั่นแกล้งเป็นคำที่ได้ยินมากขึ้นในสังคมไทย ในหมู่เพื่อนๆ ฟังโดยทั่วไปอาจดูเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกโอกาสและเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่การกลั่นแกล้งอาจไม่ใช่เรื่องปกติ หากอีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกสนุกร่วมกับผู้กลั่นแกล้ง โดยอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกคุกคาม เกิดความหวาดกลัว และสะสมจนส่งผลถึงสุขภาพจิต ซึ่งการกระทำลักษณะนี้เรียกว่า “การกลั่นแกล้ง (Bullying)” หรือ “การบูลลี่”

ปัจจุบันอาจได้ยินหรือเห็นภาพข่าวการกลั่นแกล้งกันของเด็กมากขึ้น เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น บางครั้งจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ขณะที่กรมสุขภาพจิตเปิดเผยผลการวิจัยว่า การใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกัน หรือการบูลลี่ในประเทศไทยติดอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น และพบว่าเด็กที่รังแกคนอื่นมีพื้นฐานด้านการขาดอำนาจบางอย่างในวัยเด็ก การถูกเลี้ยงดูเชิงลบ รวมถึงพันธุกรรมทางสมองจนนำไปสู่การกลั่นแกล้งคนอื่นในวัยที่โตขึ้น ในวัยเรียน เด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ที่โรงเรียน ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมโดยได้รับการยอมรับจากเพื่อนและคุณครู ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ปกครองเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้ง จึงมีความสำคัญเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม


toxic_person

การกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่ (Bully) คืออะไร การกลั่นแกล้ง (Bully) หมายถึง การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น เช่น การระราน ทำร้าย ใช้กำลัง พูดจาไม่ดี กดดัน ข่มเหงรังแกผู้อื่นให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ เกิดจากการขาดความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่หรือเด็กกับเพื่อนๆ พบได้บ่อยในโรงเรียนและในที่ทำงาน นำไปสู่ปัญหาทางจิตใจที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

ประเภทของการกลั่นแกล้ง แบ่งตามลักษณะความรุนแรงได้ ดังนี้
• การใช้กำลังบังคับหรือทำร้ายร่างกาย เช่น หยิก ผลัก ตี ต่อย เตะ หรือข่มขู่เอาสิ่งของจากเหยื่อ ทำลายข้าวของ หรือสั่งให้ทำในเรื่องที่ไม่อยากทำ เช่น สั่งให้แกล้งคนอื่นต่อ เป็นต้น
• การใช้คำพูดทำร้ายความรู้สึก เช่น พูดล้อเล่น ข่มขู่ ดูถูก วิพากษ์วิจารณ์ พูดล้อเลียนรุนแรง ใช้คำพูดละเมิดทางเพศ เป็นต้น
• การกลั่นแกล้งทางสังคมส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ เช่น กดดันให้ออกจากกลุ่ม กีดกันไม่ให้ใครเข้าใกล้หรือไม่ให้อยู่ในกลุ่มเพื่อน
• การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์หรือ Cyber bullying เป็นหนึ่งในการกลั่นแกล้งที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนผู้กระทำซึ่งทำร้ายเหยื่อผ่านช่องทางโลกออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม อีเมล เป็นต้น

toxic_person

กลุ่มเสี่ยงมีใครบ้าง
• ผู้ถูกกลั่นแกล้ง หรือ ผู้ถูกกระทำ มีลักษณะ คือ อ่อนแอ มีความแตกต่างหรือด้อยกว่าคนอื่น เช่น อ้วน พิการ ขี้อาย ไม่มีเพื่อน เพศทางเลือก เด็กต่างชาติ
• ผู้กลั่นแกล้ง หรือ ผู้กระทำ มีลักษณะ คือ ก้าวร้าว มีปัญหาพฤติกรรม เคยใช้ความรุนแรง มีปัญหาครอบครัว


เพราะอะไรเด็กจึงเก็บเรื่องการถูกกลั่นแกล้งไว้เป็นความลับ
การที่เด็กถูกกลั่นแกล้งนั้นส่งผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างมาก เมื่อถูกรังแกมักพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยตนเอง เด็กบางคนรู้สึกว่าการบอกผู้ปกครองอาจทำให้เขาถูกมองว่าอ่อนแอและกังวลว่าจะตอบสนองต่อเด็กอย่างไร เพราะถ้าผู้ปกครองทราบอาจติดต่อโรงเรียนและกลายเป็นเรื่องใหญ่ เด็กกลัวว่าจะถูกตัดสินด้วยความรุนแรงและไม่เข้าใจ
ในขณะที่เด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่น ตรงกันข้ามอาจรู้สึกอับอายถ้าผู้ปกครองของตนจับได้ว่าทำผิด เด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่นบางรายรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจจึงนำความโกรธที่ตนได้รับนั้นไปลงที่เด็กคนอื่นที่อ่อนแอกว่า
ดังนั้น การที่ผู้ปกครองและโรงเรียนทำความเข้าใจและจัดการอย่างนุ่มนวลเหมาะสมทั้งกับเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งและเด็กที่กลั่นแกล้งผู้อื่นจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นได้


สังเกตสัญญาณเตือนลูกถูกกลั่นแกล้ง
• มีร่องรอยบาดเจ็บฟกช้ำตามตัว บอกสาเหตุไม่ได้ชัดเจน
• มีเพื่อนน้อยลง ไม่ค่อยพูดถึงเพื่อนหรือกิจกรรมที่โรงเรียน
• มีพฤติกรรมรับประทานอาหารผิดปกติ อาจรับประทานมากกว่าที่เคยเมื่อกลับจากโรงเรียน เนื่องจากถูกรังแกไม่ให้รับประทานอาหารกลางวัน
• เด็กมีอาการเครียด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มวนท้อง ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยกลั้นได้
• มีอาการผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น หงุดหงิด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย เหนื่อยล้าตอนเช้า ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึม เก็บตัว ทำร้ายตัวเอง คิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น
• หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เช่น หนีออกจากบ้าน ไปโรงเรียนสาย ไม่อยากไปโรงเรียน ขาดเรียนบ่อย ผลการเรียนตกต่ำ


สังเกตพฤติกรรมลูกที่อาจกำลังกลั่นแกล้งคนอื่น
• มีพฤติกรรมก้าวร้าว
• มีของเล่นหรืออุปกรณ์การเรียนใหม่ๆโดยไม่รู้ที่มา
• ชอบว่าคนอื่น ชอบแข่งขัน อยากเป็นที่ยอมรับ
• ทำผิดแต่ไม่ยอมรับผิด



toxic_person

การช่วยเหลือและการรับมือ เมื่อลูกถูกแกล้ง
• รับฟังปัญหา ให้เด็กได้เล่าเรื่อง ทำความเข้าใจ ชวนคุยถึงประสบการณ์ของคนในครอบครัวให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ พร้อมให้กำลังใจและหาทางออกร่วมกัน
• ค้นหาสาเหตุ เช่น หากถูกข่มขู่เรียกค่าอาหารกลางวันหรือของใช้ส่วนตัว ควรให้เด็กนำข้าวกล่องไปรับประทาน งดเด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน
• หาบัดดี้ ให้เด็กทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย 2 คนขึ้นไป โอกาสถูกกลั่นแกล้งน้อยกว่าการอยู่คนเดียว
• สอนให้รับมืออย่างกล้าหาญและใจเย็น เช่น บอกเพื่อนไปตรงๆ ว่าไม่ชอบ รู้สึกเจ็บหรือรู้สึกแย่กับการกระทำนั้น บอกให้หยุดทันทีด้วยน้ำเสียงมั่นคงและเด็ดขาด หากเพื่อนไม่หยุดให้เดินออกจากสถานการณ์นั้น ไม่ใช้กำลังหรืออารมณ์โต้ตอบเพราะอาจเป็นอันตรายได้ รวมถึงแจ้งครูหรือผู้ใหญ่ที่อยู่บริเวณใกล้ๆ ให้ช่วยหยุดการกระทำเหล่านั้น
• ฝึกลูกทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจและช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการสื่อสาร
• สื่อการกับครูและโรงเรียนหรือผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้กระทำเพื่อหาทางออกและช่วยเหลือเด็กร่วมกัน


การช่วยเหลือลูก เมื่อพบว่าลูกกลั่นแกล้งผู้อื่น
• ผู้ปกครองควรยอมรับปัญหา ไม่ใช้อารมณ์ คุยกับลูกเพื่อหาสาเหตุและแรงจูงใจในการกระทำ ทบทวนแนวทางในการเลี้ยงลูกและอธิบายให้ลูกฟังว่า การกลั่นแกล้งผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ยอมรับการกลั้นแกล้งทุกรูปแบบ วางกติกาการอยู่ร่วมกัน หลีกเลี่ยงการทำโทษโดยการตี ดุด่าหรือบ่น ควรใช้วิธีอื่นแทน เช่น ลดหรืองดเงินค่าขนม งดเล่นคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
• ควบคุมและติดตามปัญหาพฤติกรรม ส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์โดยการชมเชยให้รางวัล เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ถ้าทำผิดกติกาให้กำหนดบทลงโทษอย่างเหมาะสมโดยตกลงให้ชัดเจนและกำกับติดตามอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ ร่วมกับฝึกการควบคุมตนเองและฝึกทักษะการจัดการความโกรธให้เด็ก
• เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ไตร่ตรองให้ดีก่อนพูดหรือกระทำการใดๆ กับเด็กในช่วงที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว หากผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ควรแสดงให้เด็กเห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาและการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม
• ส่งเสริมกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกในครอบครัว สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่น เอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม
• ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมหรือมีความรุนแรง
• สื่อสารกับครูและโรงเรียนหรือผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำเพื่อหาทางออกและช่วยเหลือเด็กร่วมกัน


toxic_person


การสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying)
ปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้าถึงง่ายเป็นที่นิยมของเด็กๆ การกลั่นแกล้งทางสื่อสังคมออนไลน์ทำได้ง่ายและไม่เปิดเผยตัวตนผู้กระทำซึ่งสามารถทำร้ายเหยื่อได้ตลอดเวลา ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยในการสอดส่องดูแลและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลจากการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ดังนี้
• สอนให้เด็กรู้จักการสื่อสารและเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีบนโลกออนไลน์ ไม่แชร์หรือโพสข้อความใดๆ ที่กระทบจิตใจผู้อื่น
• หมั่นพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กเปิดใจและพร้อมเข้ามาขอคำปรึกษาหากไม่สบายใจ
• หมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากพบสัญญาณผิดปกติให้รีบหาวิธีช่วยเหลือ
• สอนให้เด็กรู้จักวิธีรับมือ หากโดนกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ให้เลี่ยงการตอบโต้ บล๊อกข้อความ หรือผู้ใช้ควรรายงานไปยังผู้บริหารองค์กรสื่อสังคมออนไลน์ต้นทาง เพื่อสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและระงับบัญชีผู้ใช้งาน
• สอนให้รู้จักวิธีผ่อนคลาย หากถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เช่น หยุดเล่นและพักหากิจกรรมอื่นทดแทน ปรึกษาคนที่ไว้ใจเพื่อระบายความรู้สึกและหาทางออกร่วมกัน


หลายครั้งการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นเพราะความสนุกหรือความโกรธชั่วคราว หรือเป็นการตัดสินใจชั่วขณะแต่ผลที่ตามมาอาจมีมากและส่งผลยาวนานสำหรับผู้ถูกกระทำ การรู้จักวิธีการป้องกัน การช่วยเหลือและการรับมืออย่างถูกต้องเหมาะสมของผู้ปกครองช่วยลดบาดแผลทางใจและทางสังคมของเด็กได้ การกลั่นแกล้งอาจทำให้เกิดบาดแผลทางใจที่รุนแรงจนอาจนำไปสู่โรคทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ควรพาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและให้การรักษาอย่างถูกวิธี


อ้างอิงข้อมูลจาก

• ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกบูลลี่ โดย รศ. พญ.จิรนันท์ วีรกุล กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
• ป้องภัยใกล้ตัวลูกจาก Cyber bullying โดย กรมสุขภาพจิต
• บูลลี่ (Bully) คืออะไร มีกี่ประเภท วิธีที่จะรับมือจากการโดนบูลลี่ โดย กรมสุขภาพจิต
• ผู้ปกครองควรรู้ 4 วิธีสอนลูกเมื่อต้องเจอการบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียน โดย D-PREP International School






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม