เด็กแกล้งกัน (Bullying) ผลร้ายต่อทั้งคนโดนแกล้งและคนแกล้ง


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

การเล่นกันบางครั้งอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทำให้เกิดการโต้เถียง ด่าว่า ข่วน ตี เตะ ต่อย ผู้ใหญ่มักตักเตือน ลงโทษ และปล่อยผ่านไปเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เด็กเล่นกันเฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจแกล้ง แต่ความจริงนั้นเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปสามารถที่จะจงใจกลั่นแกล้งเพื่อนได้ เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี แต่อาจสังเกตได้ยากเพราะวิธีการแกล้งยังไม่รุนแรง ไม่มีร่องรอยให้เห็นหรือฝ่ายที่ถูกแกล้งยังไม่สามารถบอกเล่าให้ผู้ใหญ่ทราบว่าตัวเองถูกแกล้ง ดังนั้นผู้ปกครอง คุณครู หรือคนดูแลควรตระหนักถึงความสำคัญของการแกล้งกันในเด็กเล็ก เพราะการให้ความช่วยเหลือ อบรมสั่งสอนสิ่งที่ถูกต้องในขณะที่เหตุการณ์ยังไม่รุนแรงจะได้ผลดีกว่า ซึ่งผลเสียที่ตามมาจากการแกล้งกัน ไม่ได้เกิดแค่กับเด็กที่ถูกแกล้งเท่านั้น ฝ่ายที่แกล้ง และคนที่เห็นเหตุการณ์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นาน อาจนำไปสู่การแกล้งกันที่จริงจังและรุนแรงมากขึ้น และผลเสียที่เกิดกับเด็กทุกคนที่เกี่ยวข้องจะยิ่งมากตามไปด้วย

Bullying

ผลกระทบที่เกิดจากการแกล้งกัน


คนที่ถูกแกล้ง

มักจะหวาดกลัว ไม่มั่นใจที่จะเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง เพราะถูกฝ่ายที่แกล้งข่มขู่ ไม่ให้ไปบอกใคร หรือเด็กเองคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีใครช่วยได้ ทำให้เก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว ผลที่ตามมากจากการถูกแกล้งทำให้เด็กมี Self-esteem ไม่ดี เครียดกังวล ซึมเศร้า ไม่ยอมไปโรงเรียน หากรุนแรงมาก อาจพยายามทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้


คนที่แกล้งเพื่อน

เด็กกลุ่มนี้อาจมีปัญหาการเรียน ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรม หรือปัญหาด้านอื่นๆ ที่ทำให้เด็กมี Self-esteem ไม่ดี มีความเครียด ไม่สบายใจ ต้องการหาวิธีระบายความเครียดของตัวเองออกมา เด็กต้องการได้รับการยอมรับและความสนใจจากเพื่อน เลยต้องแกล้งคนอื่น เพื่อให้ตัวเองมีตัวตน มีอำนาจ หากเด็กที่เป็นฝ่ายแกล้งไม่ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือตั้งแต่แรก หรือไม่ได้รับการรักษาโรคร่วมที่เป็นเหตุที่ทำให้มีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น เช่น สมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) เด็กมีแนวโน้มที่จะแกล้งคนอื่นไปเรื่อยๆ ใช้วิธีการแกล้งที่รุนแรงมากขึ้น หรือมีพฤติกรรมไม่ดีอื่นๆ ตามมา เช่น การใช้สารเสพติด โดดเรียน ใช้กำลังทะเลาะวิวาท


คนที่เห็นเหตุการณ์

เด็กที่พบเห็นความรุนแรงจากการแกล้งกัน จะเกิดการเรียนรู้ว่าการไปแกล้งคนอื่นนั้น เป็นเรื่องสนุก รู้สึกสะใจที่เห็นฝ่ายโดนแกล้งร้องไห้ หวาดกลัว และคิดว่าเด็กที่แกล้งเพื่อนดูเจ๋ง มีอำนาจ ได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนคนอื่น เด็กอาจเปลี่ยนเป็นคนที่ไปแกล้งเพื่อนบ้างเพราะกลัวว่าตัวเองอาจโดนแกล้ง เลยต้องทำตัวเป็นพวกเดียวกับฝ่ายที่แกล้ง หรือเพราะอยากรู้สึกดีกับการที่ทำให้คนอื่นกลัวได้


Bullying


การฝึกเด็กให้มีทักษะป้องกันตัวเอง

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะยุติเรื่องการแกล้งกันได้ คือ ทุกคนทั้งตัวเด็กและคนรอบข้าง ต้องตระหนักว่าเรื่องการแกล้งกันไม่ใช่เรื่องเล็ก หรือเป็นเรื่องที่เด็กสามารถจัดการกันเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความก้าวร้าวรุนแรงที่จะส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ตัดสินความรุนแรงของการแกล้งกันแค่ทางร่างกายที่บาดเจ็บหรือทรัพย์สินที่เสียหายเท่านั้น แต่ต้องนึกถึงเรื่องบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นด้วย ผู้ใหญ่สามารถสร้างความเข้าใจและฝึกเด็กให้ป้องกันตัวเองจากการโดนเพื่อนแกล้ง ได้ดังนี้


1. สอนเด็กตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนเรื่อง “การแกล้งกัน” เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี คุณครูเองเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยสอดส่องดูแล และให้การช่วยเหลือเด็กแต่แรก (Early Intervention) โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิด เช่น ตอนพักกลางวันที่เด็กเล่นกัน การสอนหรือตักเตือนควรทำทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น (Immediate Feedback) มีการเรียกคุยกับเด็กทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์
2. สอนให้เด็กรู้จักการปฏิเสธ (Assertive) เอาตัวรอด และวิธีขอความช่วยเหลือจากคนอื่น คุยกับเด็กว่า ถ้าถูกแกล้งต้องไปบอกใคร จัดการอย่างไร เช่น ถ้าถูกแกล้งตอนพัก ให้ไปหาครูที่ห้องพักครู หรือขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่บริเวณนั้น
3. สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกแกล้ง เช่น มุมอับลับตาคนในโรงเรียน บริเวณที่เด็กเกเรไปรวมตัวกัน
4. ให้เด็กมีเพื่อนเป็น Buddy หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะเด็กที่แกล้งคนอื่น มักเพ่งเล็งเด็กที่อยู่คนเดียว ดูอ่อนแอ ไม่มีคนช่วย
5. สอนพฤติกรรมดีที่จะทำให้คนอื่นอยากเป็นเพื่อนด้วย เช่น มีน้ำใจ พูดสุภาพ ไม่ล้อเลียนเพื่อน
6. ให้เด็กหัดคิดในมุมมองกลับกัน ว่า “ถ้าหนูถูกคนอื่นทำแบบนี้... หนูจะรู้สึกยังไง” เพื่อให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) “ถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นทำไม่ดีกับเรา เราก็อย่าไปทำกับคนอื่น”
7. ฝึกให้เด็กคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของตัวเอง
8. หากผู้ใหญ่ให้การช่วยเหลือแล้วแต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เด็กอาการแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกแกล้ง คนแกล้ง และคนที่เห็นเหตุการณ์ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม