ทิพวัลย์ ด้วงชู
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์
“ทำไมกลับเอาป่านนี้ มัวเถลไถลที่ไหนมา”
เสียงพ่อแม่พูดกับลูกเมื่อกลับบ้านผิดเวลาที่มักได้ยินกันบ่อยครั้ง แม้สิ่งที่พ่อแม่จะสื่อคือความเป็นห่วง แต่สิ่งที่ลูกรับรู้คือความโกรธของแม่ เรากำลังถูกต่อว่า เราเป็นคนไม่ดี นอกจากลูกจะไม่รับรู้ความรู้สึกเป็นห่วงของคนเป็นแม่แล้ว ลูกก็ยังไม่อธิบายเหตุผลเพราะคิดว่าแม่ไม่เข้าใจ และจบลงด้วยการทะเลาะกันในที่สุด
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การใช้คำพูดสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของพ่อแม่อย่างตรงประเด็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น กรณีลูกกลับบ้านช้า อาจใช้ I-Message บอกลูกว่า “แม่เป็นห่วงมากเลยที่ลูกกลับช้ากว่าเวลาที่บอกไว้ บอกแม่หน่อยซิว่าเกิดอะไรขึ้น” ลูกก็จะรับรู้ถึงความเป็นห่วงของแม่ และมีแนวโน้มบอกเล่าถึงสาเหตุโดยที่ไม่ต้องทะเลาะให้ขุ่นเคืองกันทั้งสองฝ่าย
จะเห็นได้ว่า “ภาษาฉัน” คือ การใช้ตัวเราเองเป็นสรรพนาม บอกความรู้สึกและความต้องการให้ลูกทราบอย่างตรงไปตรงมาว่าพ่อแม่รู้สึกอย่างไรต่อการกระทำนั้นๆ โดยไม่ต่อว่าที่ตัวตนของลูก ไม่เปรียบเทียบหรืออ้างถึงบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกทางบวกหรือความรู้สึกทางลบก็ตาม
การใช้ภาษาฉัน (I-Message) อาจยากในช่วงแรก หลายๆ ท่านอาจนึกประโยคที่จะพูดไม่ออกว่าควรเรียบเรียงคำพูดอย่างไร โดยขั้นแรกผู้ปกครองควรฝึกรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง ฝึกถามตนเองในใจว่าเรารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร อาจใช้ Application ประเภท Mood tracker ช่วยบันทึกอารมณ์ในแต่ละวัน หลังจากนั้นให้เริ่มฝึกเขียนประโยคในกระดาษว่าอยากบอกลูกว่าอะไรบ้าง หรือหากเปลี่ยนคำพูดที่เคยพูดกับลูกและไม่เข้าใจกัน จะปรับประโยคนั้นให้เป็นภาษาฉัน (I-Message) อย่างไรได้บ้าง ขั้นต่อมาให้เริ่มนำประโยคเหล่านั้นไปคุยกับลูก หลีกเลี่ยงการพูดตอนที่กำลังโกรธ เพราะเรามักพลั้งเผลอพูดแรงๆ ให้ผู้ฟังรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งพ่อแม่ก็มักเจ็บปวดและเสียใจเช่นเดียวกันเมื่อความโกรธจางหาย
ดังนั้น เพื่อปรับความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างกัน การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการเริ่มต้นที่จะแสดงความรู้สึกออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้ โดยเฉพาะในผู้ปกครองที่ต้องการแสดงออกถึงความรักความห่วงใยให้ลูกๆ ได้เข้าใจโดยไม่กระทบกับตัวตน และหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกันนั่นเอง