พูดหรือพิมพ์อย่างไร ไม่ให้ทำร้ายจิตใจคนอื่น


แพทย์หญิงปรารถนา เจรียงประเสริฐ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์



ในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้มนุษย์เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารโดยการ “พูด” ผ่านทางโทรศัพท์ ผ่าน Facetime แบบเห็นหน้าค่าตากัน แม้จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก หรือโดยการ “พิมพ์” ส่งข้อความทาง SMS ไลน์ รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านทางอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการสื่อสารทั้งด้านการ “พูด” และการ “พิมพ์” นั้น สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

• การพูดและการพิมพ์ แตกต่างกันอย่างไร


การพูดคุยนั้น ไม่ว่าจะพูดคุยแบบเห็นหน้ากันโดยตรง หรือพูดคุยทางโทรศัพท์ จะมีการใช้ “อวัจนภาษา” (Non Verbal Language) มาเกี่ยวข้อง อวัจนภาษา คือ การสื่อสารโดยไม่ใช้ถ้อยคำทั้งที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน แต่ใช้อากัปกิริยา ท่าทางอื่นๆ ในการทำความเข้าใจต่อกัน


อวัจนภาษา (Non Verbal Language) แบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้



ทักษะการพูด

1. Facial Expressions คือ การแสดงออกทางสีหน้า เช่น ยิ้มแย้ม ขมวดคิ้ว


2. Body Movement and Postureเช่น ท่ายืน นั่ง การเคลื่อนไหวร่างกาย กอดอก ชี้นิ้ว

3. Eye Contact คือ การสบตา ซึ่งสามารถสื่อให้เห็นว่าผู้พูดกำลังรู้สึกอย่างไรกับผู้ฟัง (บางคนมีแววตาอ่อนโยน บางคนมีแววตาดุดัน ไม่เป็นมิตร)

4. Touch การสัมผัสระหว่างพูด (ตามกาลเทศะและโอกาส) เช่น หากเพื่อนกำลังเศร้าหรือทุกข์ เราสามารถแตะมือหรือแตะบ่าเพื่อนเบาๆ ได้

5. Space and Distanceขึ้นอยู่กับความสนิทสนมและสถานการณ์ หากเป็นเพื่อนสนิท หรือแฟนก็อาจยืนใกล้ๆ ประมาณ 1 ช่วงแขน ถ้าไปติดต่อ หัวหน้างาน (เป็นทางการ) ควรยืนห่างประมาณ 2 ช่วงแขน เป็นต้น

6. Tone of Voiceคือ น้ำเสียงที่ใช้

7. Gestureคือ ท่าทางต่างๆ เช่น โบกมือ ส่ายหน้า เป็นต้น



ทักษะการพูด

มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย พบว่า การสื่อสารของมนุษย์นั้น ร้อยละ 70 มาจาก Body Language (ภาษากาย) ร้อยละ 23 มาจาก Tone of Voice และ ร้อยละ 7 มาจาก Word (คำพูด) ดังนั้นในการพูดแต่ละครั้ง เราจึงควรใส่ใจกับภาษากายและน้ำเสียงขณะพูดให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง ตรงประเด็น ไม่ตีความผิด

ส่วนการ “พิมพ์” นั้น มักไม่มีอวัจนภาษามาเกี่ยวข้องเท่าไหร่นัก ถึงแม้จะมีการส่งสติ๊กเกอร์ในไลน์มาประกอบการพิมพ์ในแช็ต แต่บางครั้งผู้รับสารก็อาจเข้าใจผิดได้ง่ายๆ ดังนั้นหากจะคุยในประเด็นสำคัญ ควรพูดคุยกันโดยตรงจะดีที่สุด


ทักษะการพูด

• เทคนิคการพูดและพิมพ์อย่างไร ไม่ทำร้ายใจผู้อื่น


1. ระวังการใช้คำพูดเชิงเปรียบเทียบ (เทียบว่าเขาแย่กว่าคนอื่นอย่างไร) และคำพูดเชิงวิจารณ์

2. การใช้คำพูดเชิงตัดสิน เช่น ตัดสินว่าเขาทำถูกหรือผิด แล้วรีบแนะนำทางแก้ไขปัญหาให้ บางครั้งการที่เราด่วนตัดสินจนเกินไป อาจทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจฟังเขาก็เป็นได้

3. พูดหรือพิมพ์อย่างมีสติ คิดก่อนพูด พึงระวังไว้เสมอว่าคำพูดที่ออกจากปากเราไปแล้ว ไม่สามารถย้อนหวนคืนได้ ส่วนการคอมเมนต์ผ่านการพิมพ์ผ่านทางออนไลน์นั้น ทุกอย่างที่เราพิมพ์ จะถูกเก็บเป็น “Digital Footprint” เป็นหลักฐานอยู่ในโลกออนไลน์ไปตลอดกาล

4. ระหว่างพูด ต้องระวัง Non Verbal Language ของตนเองอยู่เสมอ บางครั้งการพูดประโยคเดียวกันแต่น้ำเสียงและสีหน้าแตกต่างกัน อาจทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่าประชดหรือตำหนิ

5. ฝึกการพูดแบบ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา (Empathy)” คือ คิดว่าหากเราพูดแบบนี้ออกไป ผู้ฟังน่าจะรู้สึกอย่างไร



สุดท้ายนี้ ขอฝากเคล็ดลับการพูดของพระพุทธองค์ที่ยังใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย ตามหลัก “วาจาสุภาษิต” ดังนี้

• วาจาที่กล่าวถูกต้องตามกาลเวลา

• วาจาที่กล่าวเป็นความจริง

• วาจาที่กล่าวอ่อนหวาน

• วาจาที่กล่าวเป็นประโยชน์

• วาจาที่กล่าวด้วยจิตเมตตา




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม