นอนมาก นอนเยอะ ทำไมยังง่วง (Hypersomnia)


เมธัส ริ้วทวี
นักจิตวิทยา โรงพยาบาลมนารมย์

Hypersomnia คืออะไร

อาการง่วงนอนมาก หรือ Hypersomnia เป็นอาการที่มีความรู้สึกง่วงมาก ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน นอนหลับแล้วรู้สึกตื่นตัวยาก มีความรู้สึกไม่สดชื่น แม้ว่าจะนอนแล้วมากกว่า 9 ชั่วโมง เผลองีบหลับระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขณะอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ขับรถ บางกรณีอาจทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว (พฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน) เนื่องมาจากความง่วงนอน


hypersomnia


ผลกระทบของอาการง่วงนอนมาก

ผู้ป่วยจะมีอาการ ไม่สดชื่น รู้สึกเหนื่อย ไม่มีเรี่ยวแรง ขาดสมาธิ สมองเฉื่อยชา หลงลืมง่าย อารมณ์เสียหงุดหงิดง่าย วิตกกังวลไปจนถึงซึมเศร้า น้ำหนักเกิน ส่งผลไปถึงการทำงานและชีวิตประจำวัน เช่น หลับจนเกินเวลาทำให้พลาดธุระสำคัญ ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือเรียนหนังสือ อารมณ์ไม่ดีส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไปจนถึงอุบัติเหตุร้ายแรงเมื่อมีอาการง่วงระหว่างขับรถหรือผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักรอันตราย



hypersomnia


สังเกตอาการง่วงนอนมากเกิน

เราสามารถสังเกตตนเองได้ด้วยการสังเกตจากความรู้สึกง่วง ไม่สดชื่นระหว่างวัน แม้ว่าจะได้นอนหลับเพียงพอในเวลากลางคืน อีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แบบประเมินความง่วง THE EPWORTH SLEEPINESS SCALE ซึ่งสามารถทำได้ที่นี่..

มีความเป็นไปได้เพียงใดที่คุณจะงีบหรือเผลอหลับในสถานการณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ โดยไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกอ่อนเพลีย ทั้งนี้ หมายถึง การดำเนินชีวิตปกติของคุณในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน และแม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ ที่ว่าในช่วงไม่นานมานี้ ให้ลองนึกถึงว่าสถานการณ์ต่างๆ ข้างล่างนี้จะส่งผลต่อคุณอย่างไร

เกณฑ์การให้คะแนน
0 = ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะงีบหรือเผลอหลับ
1 = มีความเป็นไปได้ที่จะงีบหรือเผลอหลับเล็กน้อย (นานๆครั้ง)
2 = มีความเป็นไปได้ที่จะเผลอหลับบ้าง (ปานกลาง)
3 = มีความเป็นไปได้ที่จะเผลอหลับสูง (ประจำ)


สถานการณ์ โอกาสที่จะหลับ
ขณะกำลังนั่งอ่านหนังสือ
ขณะกำลังดูโทรทัศน์
ขณะนั่งเฉยๆ ในสถานที่สาธารณะที่มีความเงียบ เช่น โรงหนัง ห้องประชุม
ขณะนั่งเป็นผู้โดยสารในรถยนต์ นานกว่า 1 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง
ขณะนอนเอนหลังเพื่อพักผ่อนในช่วงบ่ายเมื่อมีโอกาส
ขณะนั่งคุยกับผู้อื่น
ขณะนั่งเงียบๆ หลังรับประทานอาหารกลางวัน โดยไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขณะหยุดรถ เพื่อรอสัญญาณไฟจราจร นาน 2-3 นาที
รวมคะแนน



การประเมินผล
0-10 คะแนน = อยู่ในเกณฑ์ปกติ
11-14 คะแนน = มีความง่วงมากกว่าปกติเล็กน้อย
15-17 คะแนน = มีความง่วงมากกว่าปกติระดับปานกลาง
18-24 คะแนน = มีความง่วงมากกว่าปกติรุนแรง


สาเหตุของการง่วงนอนมากเกินไป

นอกจากสาเหตุเรื่องการอดนอน ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันหลายวันแล้ว การสืบทอดทางพันธุกรรม อาการบาดเจ็บทางสมอง การใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะโรคอ้วน หรือผลจากการมีโรคที่ส่งผลกระทบถึงการนอน เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy) การหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) เป็นต้น



ทำอย่างไรเมื่อมีอาการง่วงนอนมากเกิน
แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา โรคที่เป็นเหตุให้ง่วงนอนเกินสามารถรักษาด้วยการใช้ยารักษา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ใช้สารเสพติด และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์



อ้างอิงข้อมูลจาก


• Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition.
• Taking the Epworth Sleepiness Scale (ESS) Test by HealthLine.
• Hypersomnia by Cleveland Clinic.
• Sleep and Hypersomnia by WebMD.


hypersomnia




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม