เปิดโลกแอสเพอร์เกอร์


พญ.กมลชนก เหล่าชัยศรี
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จิตแพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลมนารมย์

“แอสเพอร์เกอร์” เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่อยู่ในกลุ่มของ “ออทิสติก” ที่พ่อแม่หลายคน เมื่อได้ยินคำนี้ก็มักมีความกังวลใจอย่างสูง เนื่องจากมีความเชื่อฝังใจกับความหมายเชิงลบเกี่ยวกับโรคออทิสติก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วผู้ที่ป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ สามารถดำเนินชีวิต และประสบความสำเร็จได้ไม่น้อยกว่าคนปกติทั่วไป เพียงแต่พ่อและแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องมีความเข้าใจและให้การดูแลช่วยเหลืออย่างถูกวิธี


เชื่อหรือไม่ว่าอัจฉริยะระดับโลกหลายคนมีประวัติเข้าข่ายการเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์อาทิเช่น นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกอย่าง “ไอน์สไตน์” นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วง “เซอร์ไอแซค นิวตัน” รวมถึงผู้กำกับมือทองอย่าง “สตีเวน สปีลเบิร์ก” ตัวอย่างของอัจฉริยะทั้งหลายนี้แสดงให้เห็นว่า “แอสเพอร์เกอร์” ถึงแม้จะเป็นภาวะอาการหนึ่งในกลุ่มของออทิสติก แต่ไม่สามารถปิดกั้นความเป็นอัจฉริยภาพได้ หากเราเรียนรู้และเข้าใจวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง


ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า “แอสเพอร์เกอร์” เกิดจากสาเหตุใด แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดู โดยมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยในกลุ่มภาวะความผิดปกติประเภทออทิสติก (Autistic Spectrum) เฉลี่ยประมาณร้อยละ 1 และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่มีความสามารถทางสติปัญญาในเกณฑ์ปกติ บางรายอยู่ในขั้นดีเลิศ โดยพฤติกรรมผิดปกติของแอสเพอร์เกอร์คือ ปัญหาด้านพัฒนาการของทักษะทางสังคมซึ่งพ่อ แม่ ครู และผู้ปกครอง สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่วัยเด็กในช่วงตั้งแต่เด็กเริ่มหัดพูด


แอสเพอร์เกอร์

เด็กที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์จะไม่สามารถเข้าใจถึงความรู้สึก ความต้องการของผู้อื่น จึงพูดแต่ในแง่มุมของตัวเองเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการพูดคุยสื่อสารทางสังคมแบบโต้ตอบที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย และมักมีการดำเนินกิจวัตรประจำวันรูปแบบเดิมซ้ำๆ ไม่เปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่แตกต่างไปจากเดิม จะเกิดความเครียดขึ้นทันที ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นหงุดหงิด โกรธ อาละวาด เมื่อพบว่าเด็กมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับลักษณะดังกล่าว ควรให้แพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียดด้วยการตรวจร่างกาย ระบบประสาท พัฒนาการ และสภาพจิต เพื่อประเมินและหาแนวทางช่วยเหลือ


นอกจากภาวะทางด้านการสื่อสารและด้านสังคมที่พบได้แล้ว เด็กที่ป่วยด้วยโรคแอสเพอร์เกอร์อาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การมีพฤติกรรมก้าวราว ทำร้ายตัวเอง ย้ำคิดย้ำทำ อารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยก็อาจจะต้องใช้ยาร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัดในการรักษา การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ในด้านพัฒนาการทางสังคม จะต้องสอนทักษะการปฏิบัติตัวทางสังคมในชีวิตประจำวัน สอนวิธีการแก้ไขสถานการณ์ที่พบบ่อยและเป็นปัญหา การช่วยสอนให้รับรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร รวมถึงการสอนให้มีการประเมินพฤติกรรมของตนเองว่าเหมาะสมเพียงใด และสอนให้เข้าใจความเกี่ยวโยงของสถานการณ์กับความรู้สึกด้วย นอกจากนี้เด็กแอสเพอร์เกอร์ควรได้รับความร่วมมือจากครูและสถานศึกษาด้วย รวมทั้งการช่วยเหลือและทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมชั้นของเด็ก ครูผู้สอนควรใช้วิธีการสื่อสารที่สั้น ชัดเจน ตรงประเด็น และต้องตรวจสอบความเข้าใจของเด็กทุกครั้ง รวมถึงการสอนให้เด็กมีทักษะโต้ตอบทางสังคมในเรื่องกฎกติกา มารยาท สิทธิส่วนบุคคล การปฏิบัติตนกับคนแปลกหน้า และการแสดงออกต่างๆ กับบุคคลอื่น


ภาวะแอสเพอร์เกอร์ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความยากลำบากในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำให้โลกของเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากความบกพร่องด้านทักษะทางสังคมร่วมกับมีพฤติกรรมไม่ยืดหยุ่น จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียน การงาน และการเข้าสังคม เพราะเด็กไม่เข้าใจและไม่รู้จักวิธีการมองโลกในมุมมองของคนอื่น ไม่รู้ว่าคนอื่นมีความเชื่อ ความรู้สึก และความต้องการแตกต่างกับตัวเอง หรือที่เรียกว่า “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” การใช้คำพูดและการกระทำอาจทำให้คนรอบข้างไม่พอใจ ประกอบกับการไม่สามารถเข้าใจในมุขตลก หรือคำประชดประชัน รวมทั้งลักษณะการเล่นสนุกตามวัย จึงมักถูกเพื่อนรังแกบ่อยๆ ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กแอสเพอร์เกอร์ก็ต้องการเข้าสังคม อยากหัวเราะไปกับเรื่องตลกร่วมกับคนอื่นๆ เหมือนกัน


เด็กแอสเพอร์เกอร์แม้จะมีความบกพร่องทางสังคม แต่ก็มีศักยภาพและความน่ารักอยู่ในตัวเพราะเขาจะให้อภัยคนง่าย ไว้ใจได้ มีความรับผิดชอบ ไม่ค่อยรังเกียจหรือรังแกใคร ไม่ลักขโมย ไม่แบ่งแยกคนจากภาษาหรือสีผิว ฉลาดและมีความสามารถ ดังนั้นนอกจากการช่วยเหลือด้านพัฒนาการทางสังคมและการเรียน ทั้งพ่อแม่ ครู และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดแล้ว ควรที่จะต้องช่วยหาจุดแข็งของเด็กให้พบ เพื่อใช้เป็นจุดเด่นที่ทำให้เพื่อนและสังคมยอมรับ ซึ่งจะช่วยให้เด็กใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยยังคงรักษาความเป็นปัจเจกบุคคลของเขาอยู่


มีผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยพ่อและแม่ล้วนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ลูกสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ พ่อและแม่ต้องมีทัศนคติที่ตรงกันว่า ลูกคือของขวัญที่ดีที่สุดของพ่อแม่ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร ขอให้คิดเสมอว่าเป็นความโชคดีอย่างมากแล้วที่ทุกคนได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน โดยพ่อแม่ต้องประคองสุขภาพจิตของตนเองให้ดี แล้วร่วมเดินไปบนเส้นทางเดียวกันด้วยหัวใจที่มั่นคง พร้อมทั้งความเสียสละ อดทน ไม่ว่าจะเจอปัญหาหนักเพียงใดก็จะสามารถแก้ไขและก้าวผ่านไปได้อย่างแน่นอน





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม